Header

วัคซีนงูสวัด ป้องกันโรคสมองเสื่อมได้ ?

พญ. นิลุบล พิมพบุตร

จากงานวิจัยล่าสุดจากออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และเวลส์ แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ใหม่ของวัคซีนป้องกันงูสวัด (Shingles Vaccine) นอกเหนือจากการป้องกันโรคผิวหนังที่เราคุ้นเคย นั่นคือ การลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ โดยผลการศึกษาที่สำคัญจาก 3 ประเทศสนับสนุนแนวโน้มเชิงบวกที่คล้ายคลึงกัน และเริ่มเป็นที่สนใจของวงการแพทย์ในระดับนานาชาติ

 

 

1. การศึกษาจากออสเตรเลีย; โครงการวัคซีนระดับชาติ (เผยแพร่ใน JAMA ปี 2025)

  • การศึกษานี้ใช้ข้อมูลจากประชากรชาวออสเตรเลียอายุระหว่าง 70 –79 ปี จำนวน 101,219 คน ที่ได้รับวัคซีน Zostavax (วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนแรง [live-attenuated vaccine]) โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ภายใต้โครงการวัคซีนแห่งชาติของรัฐบาลออสเตรเลียตั้งแต่ปี 2016 โดยผลการศึกษาพบว่า

ผู้ที่ได้รับวัคซีนมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนถึง 19%และผลลัพธ์ดังกล่าวมีการปรับค่าตัวแปร เช่น อายุ เพศ และโรคประจำตัวแล้ว

ผู้วิจัยเชื่อว่า วัคซีนช่วยลดการกลับมากำเริบของไวรัสในระบบประสาท ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดการอักเสบเรื้อรังในสมอง

2. การศึกษาจากสหราชอาณาจักร; การวิเคราะห์จากฐานข้อมูลของสหรัฐอเมริกา (เผยแพร่ใน Nature Medicine ปี 2024)

  • งานวิจัยนี้ดำเนินการโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดและมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (UCL) โดยใช้ข้อมูลจากระบบประกันสุขภาพของกองทัพสหรัฐฯ (Veterans Health Administration) จากกลุ่มประชากรสูงอายุจำนวน 207,674 คน ในช่วงการเปลี่ยนนโยบายวัคซีนของสหรัฐฯ ปี 2017 เพื่อเปรียบเทียบผลระหว่างผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดใหม่ Shingrix กับผู้ที่ได้รับวัคซีนรุ่นเก่า Zostavax โดยผลการศึกษาพบว่า

ผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิด Shingrix มีระยะเวลาปลอดโรคสมองเสื่อมนานขึ้นเฉลี่ย 17% เมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิด Zostavax โดยเฉลี่ยผู้ที่ได้รับ Shingrix มีช่วงเวลาปลอดภาวะสมองเสื่อมนานกว่าถึง 164 วัน และพบว่าได้ประโยชน์ในการป้องกันทั้งชายและหญิง เพศหญิงมีแนวโน้มป้องกันได้มากกว่าเพศชาย

3. การศึกษาจากเวลส์; การวิเคราะห์ข้อมูลระดับประชากร (เผยแพร่ใน Nature ปี 2025)

  • ประเทศเวลส์ได้ดำเนินนโยบายแจกวัคซีน Zostavax ฟรีแก่ประชาชนที่เกิดตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 1933 ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา การศึกษานี้ใช้ข้อมูลจากประชากรมากกว่า 280,000 คน ช่วงอายุระหว่าง 79–88 ปี เพื่อเปรียบเทียบอัตราการเกิดภาวะสมองเสื่อมระหว่างกลุ่มที่ได้รับและไม่ได้รับวัคซีน Zostavax โดยผลการศึกษาพบว่า

กลุ่มที่ได้รับวัคซีนมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมลดลง 20% ในระยะเวลา 7 ปี  ประสิทธิภาพในการป้องกันภาวะสมองเสื่อมมีความเด่นชัดในกลุ่มเพศหญิง เช่นกัน

 

แนวโน้มลดลงของอัตราการเสียชีวิตจากภาวะสมองเสื่อมในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีน (ข้อมูลจากใบมรณบัตรในอังกฤษและเวลส์)

วัคซีนงูสวัดช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้อย่างไร?

แม้ว่ายังไม่สามารถสรุปสาเหตุเชิงกลไกได้อย่างชัดเจน แต่นักวิจัยได้นำเสนอ สมมติฐานที่น่าสนใจ ดังนี้:

  • วัคซีนอาจช่วยป้องกันการถูกกระตุ้นซ้ำของเชื้อไวรัสในระบบประสาท ซึ่งเกี่ยวข้องกับการอักเสบในสมอง
  • ลดการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการเกิดภาวะสมองเสื่อม
  • กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ตอบสนองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ

งานวิจัยจากประเทศที่พัฒนาแล้ว แสดงให้เห็นอย่างสอดคล้องกันว่า วัคซีนงูสวัดมีประสิทธิภาพภาพในการลดความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ ซึ่งนับเป็นประโยชน์ที่นอกเหนือจากการป้องกันภาวะแทรกซ้อนด้านผิวหนัง การศึกษาเพิ่มเติมจะมีบทบาทที่สำคัญในการนำมาปรับใช้อย่างแพร่หลาย และขยายแนวทางการรับวัคซีนโรคงูสวัดที่ช่วยลดภาวะสมองเสื่อมได้ในอนาคต

 

เรียบเรียงบทความโดย : พญ.นิลุบล พิมพบุตร อายุรศาสตร์เฉพาะทางโรคติดเชื้อ 

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:

https://openhouseclinic.com/บทความ/shinglesvaccine_preventdementia_th/

Herpes Zoster Vaccination and Dementia Occurrence | Vaccination | JAMA | JAMA Network

The recombinant shingles vaccine is associated with lower risk of dementia | Nature Medicine

A natural experiment on the effect of herpes zoster vaccination on dementia | Nature

 



ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง

แผนกอายุรกรรม

สถานที่

อาคาร A ชั้น 2

เวลาทำการ

08.00-15.00 น.

เบอร์ติดต่อ

045244999

แพทย์ประจำศูนย์
พญ. รริน อิ่มเกษร

สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา

พญ. พัลยมนต์ พุ่มทอง

อายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ

เวชบำบัดวิกฤต

พญ. จิตรลดา จึงสมาน

อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา