Header

วัคซีนที่หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับ

17 มีนาคม 2568

การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคชีนจัดเป็นวิธีการดูแลสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ เพราะนอกจากจะเป็นการป้องกันโรคในบุคคลที่ได้รับวัคชีนโดยตรงแล้ว ยังช่วยป้องกันการระบาดของโรคได้ กรณีของสตรีตั้งครรภ์ ปัจจุบันมีหลักฐานการศึกษาต่าง ๆ ที่สนับสนุนว่า การให้วัคชีนในสตรีตั้งครรภ์ สามารถลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและความรุนแรงในสตรีตั้งครรภ์ ทำให้ลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ที่อาจเกิดขึ้น

วัคซีนที่หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับ มีดังนี้

1. วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เป็นวัคซีนที่จำเป็นสำหรับหญิงตั้งครรภ์ทุกคน ถึงแม้ว่าหญิงตั้งครรภ์ผู้นั้นจะเคยได้รับวัคซีนมาก่อนก็ตาม โดยช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการฉีดเพื่อให้ภูมิคุ้มกันไปสู่ลูกได้มากที่สุดคือ ขณะอายุครรภ์ 27 - 36 สัปดาห์ เป็นวัคซีน 3 ชนิด ที่ฉีดพร้อมกันใน 1 เข็ม สาเหตุที่ต้องฉีดเพราะขณะนี้โรคคอตีบได้กลับมาระบาดอีก ในรายที่รุนแรงอาจทำให้แม่และลูกในท้องเสียชีวิตได้ ส่วนโรคไอกรน พบว่าลูกที่ป่วยเป็นโรคไอกรนจะติดเชื้อมาจากแม่ ถ้าฉีดให้แม่ก็จะป้องกันให้ลูกที่คลอดออกมาได้ประมาณ 6 เดือน และวัคซีนป้องกันบาดทะยัก จะช่วยป้องกันการติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์และคลอดบุตรด้วย

2. วัคซีนไข้หวัดใหญ่ สามารถให้วัดชีนไข้หวัดใหญ่ได้ในทุกช่วงของการตั้งครรภ์ ช่วงอายุครรภ์ที่จะเป็นประโรชน์สูงสุดสำหรับการป้องกันใช้หวัดใหญ่ทั้งต่อสตรีตั้งครรภ์และทารกอายุน้อยกว่า 1 เดือน ได้แก่ ช่วงอายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์ กรณีที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อไข้หวัดใหญ่ที่รุนแรงหรือมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ พิจารณาให้วัคชีนก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ และกรณีที่ไม่ได้รับวัคชีนไข้หวัดใหญ่ในช่วงดังกล่าวสามารถฉีดได้ก่อนคลอดหรือในระยะหลังคลอดได้

3. วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนดังกล่าว หรือเจาะเลือดแล้วไม่มีภูมิต้านทาน โดยเฉพาะในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีโอกาสเสี่ยง เช่น สามีเป็นพาหะของโรคไวรัสตับอักเสบบี ก็อาจจะรับการฉีดวัคซีนนี้ได้

4. วัคซีนโควิด-19 สามารถให้วัดชีนโควิด-19 ได้ในทุกช่วงของการตั้งครรภ์ ช่วงอายุครรภ์ที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับการป้องกันโรคโควิด-19 ทั้งต่อสตรีตั้งครรภ์และทารกอายุน้อยกว่า 1 เดือน ได้แก่ ช่วงอายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์ กรณีที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคโควิด-19 ที่รุนแรงหรือมีการระบาดยองโควิด-19 พิจารณาให้วัคชีนได้ก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ กรณีที่ไม่ได้รับวัคชีนโควิด-19 ในช่วงดังกล่าวสามารถฉีดได้ก่อนคลอดหรือในระยะหลังคลอดได้

5. วัคซีนป้องกันไวรัส RSV สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ วัคซีน RSV ในคุณแม่ตั้งครรภ์จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันและส่งต่อไปยังลูกน้อย ทำให้ลูกน้อยมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ RSV ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือนแรก ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กเล็กมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ RSV และอาการรุนแรง ส่งต่อภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย ลดความเสี่ยงการติดเชื้อ RSV ในทารก 81.8%

  • วัคซีนที่ไม่แนะนำให้ในขณะตั้งครรภ์ ได้แก่ วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
  • วัคซีนที่ห้ามใช้ในขณะตั้งครรภ์ คือ วัคชีนที่เป็น live-attenuated viral vaccine ได้แก่ วัคชีนรวมคางทูม-หัด-หัดเยอรมัน และวัคซีนสุกใส และวัคชีนที่เป็น chimeric vaccine ได้แก่ วัคซีนไข้เลือดออก อย่างไรก็ตาม กรณีที่ได้วัคซีนเหล่านี้ โดยไม่ทราบว่ากำลังตั้งครรภ์ ไม่เป็นข้อบ่งชี้ในการยุติการตั้งครรภ์

นอกจากนี้ยังมีวัคซีนหลายชนิดที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรทราบ โดยเฉพาะวัคซีนที่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ได้แก่ วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส ไข้สมองอักเสบ หัด คางทูม หัดเยอรมัน โปลิโอ วัณโรค เพราะวัคซีนเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ ซึ่งต้องปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลครรภ์ก่อนรับวัคซีน

คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกราย ควรได้รับการซักประวัติการได้รับวัคซีนเพื่อประเมินความเสี่ยงและวัคซีนที่ควรให้ระหว่างตั้งครรภ์ โดยวัคซีนที่สตรีตั้งครรภ์ทุกรายควรได้รับคือวัคซีนป้องกันบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน (Tdap) และวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ในช่วงที่มีการระบาดของโรค สำหรับวัคซีนอื่น ๆ พิจารณาให้โดยประเมินจากความเสี่ยงของคุณแม่ตั้งครรภ์แต่ละราย และควรหลีกเลี่ยงวัคซีนชนิดเชื้อเป็น (live attenuated vaccine) และวัคซีนที่ยังมีการศึกษาไม่เพียงพอหากประโยชน์ที่จะได้รับจากวัคซีนไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์

 

 

อ้างอิง : ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

การให้วัคซีนแก่สตรีตั้งครรภ์, ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย 2567

 

 



ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง

แผนกสูตินรีเวช

สถานที่

อาคาร A ชั้น 2

เวลาทำการ

09.00-14.00 น.

เบอร์ติดต่อ

045244999