“เชื้อโนโรไวรัส” เชื้อร้าย ทำลายระบบทางเดินอาหารที่กำลังระบาดหนัก!
เชื้อโนโรไวรัส คือ เชื้อที่ก่อให้เกิดการอักเสบที่ระบบทางเดินอาหาร เป็นไวรัสที่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว แม้จะได้รับเชื้อในปริมาณเพียงเล็กน้อย มักติดต่อจากการปนเปื้อนในอาหาร น้ำดื่ม และน้ำแข็ง เช่น อาหารที่ปรุงไม่สุก อาหารทะเล หรือวัตถุดิบที่นำมาใช้ไม่สะอาด นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อจากการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง หรือหยิบจับสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อแล้วนำเข้าปาก และเชื้อยังแพร่กระจายผ่านการหายใจ จึงมักพบการระบาดของไวรัสชนิดนี้ได้บ่อยตามโรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็กและสถานพยาบาล
อาการที่พบ :
เชื้อโนโรไวรัส มีระยะฟักตัว 12-48 ชั่วโมงหลังรับเชื้อ
อาการที่พบจะคล้ายกับโรคอาหารเป็นพิษ คือ
- อาเจียนรุนแรง
- ปวดมวนท้อง
- ท้องเสีย
- มีไข้ต่ำ
- ถ่ายเหลวเป็นน้ำ
อาการที่ควรรีบพบแพทย์ :
- ทารกหรือเด็กที่ถ่ายเหลวมากกว่า 5 ครั้ง หรืออาเจียนมากกว่า 2 ครั้งต่อวัน
- มีอาการของภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง คอแห้ง ตาโหล อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ รู้สึกมึนงง หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ และปัสสาวะน้อยลงและมีสีเข้ม
- ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวชนิดรุนแรง เช่น โรคไต ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และมีอาการท้องเสียและอาเจียน
- อาการป่วยไม่ดีขึ้นใน 2-3 วัน
ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อชนิดนี้ส่วนใหญ่อาจเกิดภาวะขาดน้ำได้ สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงสามารถพักรักษาตัวที่บ้าน และควรดื่มเกลือแร่เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำในร่างกาย ส่วนผู้ป่วยที่อาการรุนแรงให้รีบเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที
วิธีป้องกันการติดต่อ :
เชื้อโนโรไวรัส จะติดต่อจากอาหารและน้ำ ในช่วงนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยอาจทำให้อาหารเน่าเสียได้ง่าย มักพบอาการท้องเสีย ท้องร่วง อาหารเป็นพิษได้บ่อย และใกล้เข้าสู่ฤดูร้อนเชื้อโรคเหล่านี้มักเจริญเติบโตได้ดี ควรดูแลสุขภาพในถูกสุขลักษณะ ดังนี้
1) ล้างมือก่อน-หลังรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
2) ล้างวัตถุดิบที่ใช้ให้สะอาดก่อนนำมาประกอบอาหาร
3) รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ไม่ควรรับประทานอาหารที่สุกๆ ดิบๆ และควรอุ่นร้อนก่อนรับประทาน
4) ใช้ช้อนกลางตักอาหารเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
5) ดื่มน้ำสะอาด น้ำต้มสุก หรือน้ำที่มีบรรจุภัณฑ์ปิดฝามิดชิด
6) น้ำแข็งสำหรับรับประทาน ต้องเลือกซื้อจากแหล่งผลิตที่ถูกสุขลักษณะได้มาตรฐาน GMP
ปัจจุบันเชื้อโนโรไวรัส ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ทั่วโลกคาดว่ามีผู้ป่วยประมาณ 685 ล้านรายต่อปีเสียชีวิต ประมาณ 200,000 รายต่อปี ผู้ป่วยประมาณ 200 ล้านรายเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีส่งผลให้เด็กเสียชีวิตประมาณ 50,000 รายทุกปี โดย family Caliciviridae มี Genus Sapovirus ที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดและโรคกระเพาะและลำไส้อักเสบ เฉียบพลันได้เหมือนกัน โดยมีอาการทางคลินิกเหมือน Norovirus
ข้อมูลจาก : กองระบาดวิทยา/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล